Menu

ขึ้นดอยไปแก้ดิน (ถล่ม) ที่โรงเรียน ตชด.เจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 4

06 ม.ค. 2559
ขึ้นดอยไปแก้ดิน (ถล่ม) ที่โรงเรียน ตชด.เจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 4

     รถกระบะ 4x4 บรรทุกสัมภาระที่อัดแน่นด้วยอุปกรณ์การพักแรม 10 วัน ไต่ไหล่เขาขึ้นภูสูงเกือบสองชั่วโมงจากตัวอำเภอเมืองเชียงราย จนที่สุดก็ถึงเป้าหมายที่บ้านห้วยแม่คำ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง ชุมชนที่ในละอองหมอกเย็นฉ่ำ 
     โรงเรียน ตชด.บนดอนสูงแห่งนี้ มีนักเรียนประมาณ 150 คน การก่อสร้างตัวอาคารเรียน และอาคารเพื่อเป็นพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ ทำให้ต้องตัดไหล่เขา ในบริเวณโรงเรียนจึงมีหลายจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มแบบตื้น ร่องรอยการชะล้างหน้าดินในหน้าฝน ปรากฏอยู่ทั่ว การทำโครงการนี้อาศัยการมีส่วนร่วม ทั้งชาวบ้าน ครู ตชด. และนักเรียน มาลงมือร่วมกับทีมงาน 
     สำหรับจุดที่ทำการป้องกันและซ่อมแซมมีด้วยกันทั้งหมด 4 จุด จุดแรกเป็นพื้นที่ด้านข้างโรงเรียน ลักษณะเป็นไหล่เขาที่มีระดับสูงเหนือกว่าตัวอาคารเรียน สาเหตุของการกัดเซาะส่วนหนึ่งเกิดจากทางน้ำที่ไหลมาจากหลังคาของอาคารที่อยู่ด้านบนไหล่เขานั้น เมื่อน้ำฝนที่ไหลลงจากหลังคามารวมตัวกันทิศทางเดียว ก็ทำให้ดินบริเวณนั้นถูกกัดเซาะ โดยเฉพาะดินบริเวณต้นไม้ใหญ่สอง คือ กระถินณรงค์กับต้นทะโล้ ถูกกัดเซาะจนถึงรากลึก ถ้าไม่รีบซ่อมแซม ต้นไม้อาจโค่นล้ม 
     การทำงานจึงเริ่มจากด้านบนที่ว่านี้ โดยการตัดขั้นบันได (cut slope) เป็นชั้น ๆ ให้ลาดเอียงทั้งซ้ายขวา เพื่อระบายน้ำให้ไหลออกด้านข้าง และใช้ไม้ไผ่สานทำแปลงขั้นบันไดเพื่อปลูกหญ้าแฝก ทำหน้าที่เป็นคันกันน้ำและผันน้ำออกซ้าย-ขวา รากหญ้าแฝกที่ปลูกติดชิดกัน ก็จะช่วยยึดดินให้มีความแข็งแรงมากขึ้น บริเวณโคนต้นไม้ที่ดินถูกกัดเซาะเป็นรอยแหว่งหายไป ใช้กระสอบพลาสติกแบบมีปีก เรียงจากโคนต้นไม้ให้สูงเท่ากับดินเดิมที่หายไป เรียงกระสอบแบบตัดขั้นบันได 2 ชั้น แล้วสานไม้ไผ่ทำแปลงปลูกหญ้าแฝก ตรงจุดนี้ถือเป็น “งานช้าง” เพราะกว่าจะเรียงกระสอบให้เต็มพื้นที่ใช้เวลาเกือบ 8 วัน

     แน่นอนว่าการทำงานย่อมมีอุปสรรค วันแรก ๆ ของการทำงาน ขลุกขลักเรื่องการสื่อสาร งานจึงเดินหน้าช้า แต่พอชาวบ้านจับหลักได้ ใจที่อยู่เป็นทุนทำให้งานเดินเร็วขึ้น ทั้งการตัดขั้นบันได การสานไม้ไผ่ ล้วนเป็นทักษะของชาวบ้านอยู่แล้ว เมื่อเปิดพื้นที่จุดที่เหลืออีก 3 จุด คือ ด้านหน้าโรงเรียนซึ่งมีการตัดเขาเพื่อทำถนน และเสี่ยงต่อดินไหล  ต้องป้องกันด้วยการตัดขั้นบันไดเพื่อผันน้ำ และสานไม้ไผ่ทำแปลงหญ้าแฝก จุดนี้ชาวบ้านสามารถลุยกันเองอย่างคล่องแคล่ว 
     ส่วนเด็กนักเรียนตื่นตากับผู้คนที่มาจากต่างถิ่นพร้อมอุปกรณ์มากมาย รวมถึงรถแบคโฮที่มาช่วยขุดแต่งเส้นทาง เด็กน้อยที่นี่ยังใสซื่อ ไม่ก้มหน้าก้มตากับสมาร์ทโฟนเหมือนเด็กในเมือง และเด็กน้อยคนหนึ่งที่เกาะติดทุกสถานการณ์ ต้องยกให้ “ชอคเกอร์” ชอคเกอร์จะมีชื่อจริงอย่างไร-ไม่รู้ แต่เจ้าตัวเต็มใจให้ใคร ๆ เรียกเขาในชื่อนี้ เขาเป็นเด็กช่างคิดช่างถาม ทุกๆ วันชอคเกอร์จะแต่งกายด้วยชุดที่ดูมอมแมม สะพายเป้ แต่ไม่เข้าเรียน คอยมานั่งดูการทำงานทุกวันพร้อมยิงคำถามสารพัด เป็นสีสันของทริปในการลงพื้นที่ครั้งนี้ 

     ตลอด 8 วันของการทำงานตั้งแต่วันที่ 6-13 มกราคม 2559 ทุกชีวิตที่มาร่วมแรงร่วมใจกันต้องต่อสู้กับสภาพอากาศหนาวและบางช่วงก็เจอฝนตกตลอดทั้งวัน แต่ก็สนุก ช่วงแรกเรากังวลกันว่า ชาวบ้านจะเข้าใจวิธีการเพื่อที่จะได้สานงานต่อ และพึ่งพาตนเองในวันข้างหน้าได้หรือไม่ แต่เมื่อได้ทำงานและอยู่ร่วมกัน 8 วัน ข้อกังวลนี้ก็สลายไป เพราะนอกจากจะเข้าใจแบบทะลุปรุโปร่ง ชาวบ้านยังทำได้คล่องแคล่ว ส่วนหนึ่งก็เพราะวิธีการที่ออกแบบ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เป็นธรรมชาติ ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสูง แม้จะเหนื่อยล้า แต่เมื่อเห็นผลงานและผู้คนที่ได้รับประโยชน์ ความเหนื่อยก็มลาย กลายเป็นความชื่นใจ
แกลลอรี่ภาพ
© 2023 Power For Sustainable Future Foundation. All Rights Reserved