Menu

เสียงวิเศษของ “ครูดา”

18 ม.ค. 2562
เสียงวิเศษของ “ครูดา” 
เมื่อพูดถึงสถานการณ์การเรียนภาษาไทยของลูกหลานพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูงตามแนวเขตชายแดนภาคเหนือ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั้น ส่งผลกระทบต่อการเรียนวิชาอื่น ๆ ที่ฉุดผลการเรียนของเด็ก ๆ ให้มีเกรดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐาน
     
มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน จึงได้ร่วมกับสำนักงานประสานงานโครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและการพัฒนาท้องถิ่น (สตพ.) มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32  เมื่อปี 2555 นำทีมโดย โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน เข้าร่วม โดยมี ผศ.ศิวกานต์ ปทุมสูตร ผู้เชี่ยวชาญการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จากศูนย์การเรียนรู้ทุ่งสักอาศรม นำคณะครูมาฝึกอบรม พัฒนาทักษะ และลงพื้นที่นิเทศในโรงเรียนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และแน่นอนว่าผลการเรียนของเด็ก ๆ นั้นดีขึ้นตามลำดับ 
     การทุ่มเทของครูจึงเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ โครงการฯ จึงได้มอบรางวัล “ครูภาษาไทยต้นแบบ” เพื่อยกย่อง และเป็นกำลังใจแด่ครูผู้มีความเพียร โดยเฉพาะความสำเร็จที่น่าชื่นชมของ “ครูดา” ดาบตำรวจหญิงดาริกา ปัญญาเตียม สอนประจำอยู่ที่โรงเรียนสังวาลวิทย์ 8 จ.เชียงราย นอกจากนี้  “ครูดา”ยังเคยได้รับพระราชทานรางวัลครูผู้สอนดีเด่นประจำปีศึกษา 2558 ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังความปลื้มปิติให้เจ้าตัวอย่างหาที่สุดไม่ได้
     ครูดารับราชการเป็นตำรวจตระเวนชายแดนและทำหน้าที่ครูครั้งแรกที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านสามัคคีเก่า ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ต่อมาในปี 2556 จึงย้ายมาสอนที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสังวาลย์วิท 8 รับหน้าที่เป็นครูประจำชั้น ป.3 และทำหน้าที่ครูสหกรณ์กับครูประจำห้องสมุด ต่อมามีการปรับเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบให้ครูดาดูแลนักเรียน ป.1 เพื่อปูพื้นฐานให้แน่นแก่เด็ก ๆ ก่อนจะขึ้นชั้นต่อไป ครูดาจึงมีโอกาสเข้าอบรมในโครงการพัฒนาทักษะภาษาไทยสำหรับครูฯ และสะท้อนปัญหาแก่คณะนิเทศที่เข้ามาเยี่ยมเยียน
     ในปี 2557 ครูดาเข้าร่วมโครงการอ่าน คิด คุย เขียน หลังจากอบรม ครูดาบอกว่าตนเองมีทัศนคติที่ดีขึ้น เธอเริ่มมองเห็นว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออก จึงเริ่มต้นด้วยการทดสอบเด็ก แยกเด็กเป็นกลุ่ม เด็กเรียนดี เรียนไม่ดี และเด็กพิเศษ เสริมทักษะเพิ่มเติมในสิ่งที่ขาด บันทึกความก้าวหน้าของเด็กแต่ละคนเพื่อการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด สร้างข้อตกลงให้เด็กพูดภาษาไทย ช่วงแรก ๆ เด็กที่มาจากฝั่งเมียนมาร์พูด-ฟังภาษาไทยไม่ได้ ผ่านไปหนึ่งเดือน เด็กเริ่มสื่อสารเป็นประโยคสั้น ๆ นอกจากนี้การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ก็เป็นสิ่งจำเป็น 
     ครูดาจัดมุมนิทานภายในห้องเรียน มอบหมายให้เด็ก ๆ สลับกันเล่าให้ฟังกันเอง เด็กที่อ่านไม่ได้ก็จะเริ่มจำรูปและตัวหนังสือได้ เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน ครูดาจัดเวรหมุนเวียนให้เด็ก ๆ อ่านนิทานผ่านเครื่องกระจายเสียงในโรงเรียน ชื่นชมและให้รางวัลบ้าง เพื่อให้เด็กภูมิใจ พัฒนาการของเด็ก ๆ เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามหลัก “สุ จิ ปุ ลิ” ฟัง-คิด-ถาม-เขียน และเติมด้วยการอ่าน
     ครูดามักจะนำปัญหาการทำงานในชั้น ป.1 ไปแลกเปลี่ยนกับครูอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการ “แชร์” แนวทางแก้ไขร่วมกัน และเพื่อเป็นการ “เตรียมการ” ให้แก่เด็ก ๆ ที่จะเลื่อนชั้นในปีต่อไป 
การเสียสละและทำงานด้วยความจริงจัง จริงใจ ทำให้ครูดาได้รับรางวัลครูต้นแบบในปี 2556 และ 2557 และล่าสุดรางวัลครูผู้สอนดีเด่น เป็นกำลังใจในการทำงานที่เสียสละของครูดา และเสียงอ่านหนังสืออย่างฉะฉานที่ดังคับห้องของเด็ก ๆ คือรางวัลชีวิตของเด็กผู้หญิงอาข่าคนหนึ่งที่ไต่ชะตาชีวิตเพื่อก้าวขึ้นมาเป็น “แม่พิมพ์ของชาติ” ที่สังคมภาคภูมิใจ
แกลลอรี่ภาพ
© 2023 Power For Sustainable Future Foundation. All Rights Reserved