การสร้างบุคลากรในองค์กรให้มีจิตสาธารณะ เป็นกระบวนการหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคม ที่ช่วยยกระดับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน พนักงานในกลุ่ม ปตท. จึงมีการรวมตัวกันทำงานเพื่อสังคมเรียกว่า โครงการนักคิด จิตอาสา โดยมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ทำหน้าที่ “จับคู่” นักคิดกับชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมทั้งสนับสนุนองค์ความรู้และทุนในการทำกิจกรรม ชุมชนแรกมาจับคู่ที่กลุ่มนักคิด จิตอาสา คือบ้านเปร็ดใน ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด ชุมชนต้นแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ได้รับ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ในปี 2542 และรางวัล “สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน” ในปี 2548
บ้านเปร็ดใน ประสบปัญหาระบบน้ำประปาจากส่วนกลางเข้าไม่ถึง จึงต้องจัดสร้างระบบประปาชุมชนไว้ใช้งานเอง เพื่อส่งไปให้ชาวบ้านใช้อุปโภค-บริโภคกว่า 220 ครัวเรือน ซึ่งทำให้ชุมชนต้องเสียค่าไฟฟ้า และค่าบริหารจัดการโครงการผลิตน้ำประปาชุมชนสูงถึง 163,200 บาทต่อปี มูลนิธิฯ จึงนำคณะกลุ่มนักคิด จิตอาสานั่งรถไปไกลกว่า 400 กิโลเมตรเพื่อลงพื้นที่บ้านเปร็ดในเมื่อวันที่ 8-10 ตุลาคม 2558 โดยเริ่มจากการเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตระบบประปาชุมชน ศึกษาศักยภาพความเข้มแสงอาทิตย์ และช่วยกันวิเคราะห์ทางเลือกที่เหมาะสมที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง เป็นแนวทางที่ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถบริหารจัดการและพึ่งตนเองได้ในระยะยาว
ผลการวิเคราะห์ได้ข้อสรุปว่าสามารถนำเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้ในระบบผลิตน้ำประปาชุมชนได้ จึงได้ร่วมกันออกแบบระบบติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าใช้กับระบบผลิตน้ำประปาชุมชนเพื่อนำไปสู่การติดตั้งจริง ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยให้บ้านเปร็ดในประหยัดค่าใช้จ่าย และลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 7.4 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี [คำนวณจากผลการศึกษาค่า Emission Factor ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)]