Menu

แสงส่องสว่างที่บ้านห้วยปูลิง

ชุมชนบ้านห้วยปูลิง ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนปกาเกอญอที่มีประวัติการตั้งถิ่นฐานที่นี่มานานกว่า 150 ปี หมู่บ้านอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทาง 75 กิโลเมตร และอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ และป่าสงวนแห่งชาติแม่น้ำปายฝั่งซ้ายตอนล่าง เช่นเดียวกับหมู่บ้านอีกหลายแห่งในตำบลห้วยปูลิง
สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชัน ชาวบ้านผลิตอาหารด้วยระบบ “ไร่หมุนเวียนคงที่” ไม่มีการขยายพื้นที่เพิ่ม แต่สามารถบริหารจัดการนาขั้นบันไดที่มีประสิทธิภาพ ไม่ส่งผลกระทบเรื่องการชะล้างหน้าดิน และยังชีพด้วยสันติ ไม่มีความขัดแย้งกับหน่วยงานภาครัฐ และยังเป็นหนึ่งในชุมชนเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำตำบลห้วยปูลิง ที่ร่วมกันทำงานอนุรักษ์ในรูปแบบการกระจายอำนาจเพื่อจัดการตนเองอย่างมีส่วนร่วม ส่งผลให้เครือข่ายฯ มีการบริหารจัดการที่โดดเด่น เป็นแบบอย่าง จนได้รับ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ในปี 2557 

ชุมชนตั้งอยู่ในหุบเขาที่สลับซับซ้อน และการอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ ทำให้ระบบไฟฟ้าพื้นฐานเข้าไม่ถึง หน่วยงานที่ให้บริการชุมชน เช่น อบต. ห้วยปูลิง โรงเรียนบ้านห้วยปูลิง และบ้านเรือนต่างๆ จึงมีค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับใช้เครื่องปั่นไฟฟ้า รวมแล้วเป็นเงินมากกว่า 9.6 แสนบาทในแต่ละปี 

มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน จึงเข้าไปร่วมทำโครงการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ศักยภาพด้านพลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน และวิเคราะห์ความเหมาะสมด้านเทคโนโลยีและความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์
ได้ข้อสรุปว่าการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์คุ้มค่ากว่า จึงติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดรวม 15.6 กิโลวัตต์ ที่สำนักงาน อบต.ห้วยปูลิง โรงเรียนบ้านห้วยปูลิง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วัด และชุมชนห้วยปูลิง รวมทั้งการฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องกับคณะครู เจ้าหน้าที่ อบต. และชาวบ้านในชุมชนกว่า 120 คน เพื่อสร้างช่างชุมชนในการพึ่งพาตนเอง

ประโยชน์ที่ได้รับ : 
•    ส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้กับชุมชนและทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยมีระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 15.6 กิโลวัตต์ 
•    ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับชุมชนลงได้กว่า 9.6 แสนบาทต่อปี 
•    ช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 12.89 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี (คำนวณจากผลการศึกษาค่า Emission Factor ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน))
•    สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์อย่างง่ายให้กับชาวบ้านในชุมชน 

 
© 2023 Power For Sustainable Future Foundation. All Rights Reserved