Menu

บทพิสูจน์ชีวิต “ราชินีเห็ด” พยงค์ แสนกมล

18 ม.ค. 2562
บทพิสูจน์ชีวิต “ราชินีเห็ด” พยงค์ แสนกมล
เห็ดเป็นเชื้อราชั้นสูงที่นำมาปรุงอาหารอร่อย คนชอบกินเห็ดมักจะรู้จักชื่อและชนิดของเห็ด แต่ครูพยงค์ แสนกมล อยาก “รู้จัก” เห็ดมากกว่าการนำไปปรุงอาหาร


     เมื่อปี 2544 สมัยที่เป็นครูอาสาอยู่ในศูนย์ฝึกพัฒนาราษฎรชายแดนสระแก้ว ครูพยงค์อาศัยเรียนรู้แบบครูพักลักจำ ใช้เวลาว่างไปศึกษากับครูวิชาการเกษตรที่สอนการเพาะเห็ด ยิ่งดูยิ่งสนใจ ผสมกับเป็นคนมีพรสวรรค์เรื่องนี้ จึงได้รับการสนับสนุนให้ไปเรียนเรื่องการเพาะเห็ดที่จีน เกี่ยวกับการเพาะเห็ดภูฎาน เห็ดถั่งเช่า เห็ดหลินจือ เห็ดมิลค์กี้ เห็ดฮังการี เป็นต้น
ยิ่งเรียนยิ่งสนุก ถึงขนาดอาจารย์ชาวจีนให้ฉายาว่า “ราชินีเห็ด” 
     ปี 2547 ครูพยงค์หันหลังให้ชีวิตมนุษย์เงินเดือน เธอกลับมาลงทุนเพาะเห็ด 500 ก้อนที่บ้านเกิดในจังหวัดอ่างทอง ผลผลิตดีจนมีลูกค้าสั่งจอง รับเงินมัดจำจากลูกค้ามาทั้งหมด 2 ล้านบาท แต่โชคร้าย เพราะเห็ดเสียหายจากควันไฟที่เผาตอซังนาข้าง ๆ ฟาร์มเห็ด ครูพยงค์ไม่สามารถส่งผลผลิตให้ลูกค้าได้ตามที่ตกลง จึงต้องกู้เงินนอกระบบไปใช้คืน 
นี่ไม่ใช่ความผิดพลาดครั้งเดียว แต่ด้วยนิสัยกล้าได้กล้าเสีย ครูพยงค์จึงหาเงินมาลงทุนใหม่ แล้วก็พ่ายเกมธุรกิจอีก เธอเคยถูกซ้อมแทบปางตายจากการทวงหนี้นอกระบบ 

อัจฉริยะด้านการเพาะเห็ดกับความสำเร็จในการทำธุรกิจ...เป็นคนละเรื่องกัน
“อยากเป็นตัวอย่างให้กับคนที่ล้ม แล้วตั้งสติ ลุกขึ้นมาใหม่” ครูพยงค์บอกว่าล้มแล้วต้องรีบลุก สถานการณ์ที่บีบบังคับให้ต้องส่งเงินกู้วันละ 18,000 บาท ครูพยงค์และคนงานจึงต้องขลุกอยู่ในฟาร์มเห็ดแทบทั้งวันทั้งคืน จึงสังเกตเห็นการเจริญเติบโตของเห็ด ได้ความรู้ว่าเห็ดชนิดใดชอบสภาพอากาศแบบไหน ชอบอาหารแบบไหน สภาพแสงควรเป็นอย่างไร ครูค้นคว้าทดลองเพื่อหาเทคนิคการเพาะเห็ดให้สวย แม้จะเป็นเห็ดที่ไม่คุ้นเคย

“เห็ดบางชนิดเมืองไทยไม่นิยมทำ เช่น เห็ดเมืองหนาว คนเมืองหนาวจะกินเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น การเรียนรู้เทคนิคใหม่เราต้องหันหลังให้ฟาร์ม ล้างสมองตัวเองให้โล่ง แล้วเปิดรับความรู้ใหม่” ในบรรดาเห็ดที่ยากเย็น เช่น เห็ดหลินจือ เห็ดถั่งเช่าสีทอง หรือเห็ดแอนโทรเดีย ที่ไต้หวันใช้เวลาเพาะนานถึง 4-7 ปี ครูพยงค์ทำได้ภายในเวลาเพียง 1 ปี 4 เดือน

ความรู้จริงรู้ลึก ช่วยปลดหนี้ให้ครูพยงค์ภายใน 1 ปีและด้วยความรู้นี่เช่นกัน ครูพยงค์จึงกลายเป็นวิทยากรที่มีลูกศิษย์มากมาย แต่ในบางช่วง...พยงค์ แสนกมล ก็ถูกโจมตีว่าเป็นคนลวงโลก  “ด้วยความที่ภาษาวิชาการหรือศัพท์วิทยาศาสตร์จะพูดยาก เวลาเราเพาะเห็ด ให้อาหารเห็ด เราก็ใช้ภาษาง่ายๆ ให้เข้าใจว่าใส่อะไรบ้าง ทีนี้พอเราพูดง่ายๆ เวลามีคนเอาไปทำตาม เขาไม่ได้ถามให้ละเอียดว่ามันคืออะไร เมื่อเสียหายจากการลงทุนมาก ก็บอกว่าเราหลอกลวง ไม่พูดความจริง”

ครูพยงค์บอกว่า การเรียนรู้เรื่องเห็ดต้องถาม แค่อาศัย “มาดูงาน” แล้วไม่ถาม ใช้วิธีถ่ายรูปข้างถุงเห็ด แล้วกลับไป
“รับรองว่าเจ๊งทุกราย” คนที่อยากได้อะไรแบบฉาบฉวย อยากรวย แต่ไม่ศึกษาจริงจัง ยากจะประสบความสำเร็จ กว่าจะมาถึงวันนี้ ครูพยงค์ลงทุนค่าเรียนเกือบล้านบาท เพื่อให้รู้จักเห็ดเพียงชนิดเดียว เธอจึงมีความสามารถควบคุมชีวิตเห็ดได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

พยงค์ แสนกมล เป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นที่ปฏิบัติงานเพื่อสังคมและทำคุณประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม จากสมาคมเทคโนโลยีการเกษตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการช่วยเหลือชาวบ้าน เป็นที่ปรึกษาโครงการหลวง เป็นวิทยากรสอนนักศึกษาในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นวิทยากรสอนการเพาะเห็ดในประเทศจีน และอีกหลายองค์กร เธอได้รับปริญญาดุษฎีศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการ) ประจำปีการศึกษา 2557 จากสถาบันเรียนรู้เพื่อปวงชน

การเพาะเห็ดทำให้ชีวิตของพยงค์ล้มลุกคลุกคลานปางตาย แต่เธอไม่โทษว่าเป็นเพราะเห็ด 
     “ปัจจัยภายนอกเป็นตัวแปร ถ้าปัจจัยภายใน คือจิตใจมีความเข้มแข็ง อุปสรรคต่างๆ ก็จะผ่านและคลี่คลายไปได้” จากคนที่มีความรู้แค่ ป.7 วันนี้ครูพยงค์ได้รับการยกย่องในฐานะ “ดอกเตอร์” มีห้องแล็บวิจัยเห็ดแบบครบวงจรที่ประเทศจีนและไต้หวันให้การยอมรับ
 
แกลลอรี่ภาพ
© 2023 Power For Sustainable Future Foundation. All Rights Reserved