Menu

พลัง (งาน) กลางไพร

18 ม.ค. 2562
พลัง (งาน) กลางไพร

การผนึกกำลังของคนในชุมชนเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวม อาจไม่ใช่เรื่องยากนัก ถ้าเป็นชุมชนเชิงเครือญาติที่มีพื้นเพวัฒนธรรมคล้าย ๆ กัน แต่สำหรับหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาไม่นาน ซ้ำผู้คนยังมาจากต่างถิ่น การรวมพลังเพื่อเป็นหนึ่งเดียวต้องอาศัยสถานการณ์ชนิดที่ว่ามีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน พลังแท้จึงจะเกิดขึ้น

     แต่บ้านคลองเรือ ชุมชนเล็ก ๆ ที่อยู่กลางป่าต้นน้ำพะโต๊ะ ก็ทำสำเร็จแล้ว หมู่บ้านที่มีประชากรเพียง 200 กว่าคนนี้อยู่ในตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ผู้คนที่นี่อพยพมาจากหลายหมู่บ้านในภาคใต้ โดยทยอยกันเข้ามาตั้งแต่ปี 2518 และบุกป่าถางพงเพื่อเป็นที่ทำกิน ต่อมาพื้นที่อาศัยถูกประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าปากทรง ป่าพะโต๊ะ ป่าปังหวาน ชุมชนต้องการอยู่ในพื้นที่ แต่รัฐต้องการอนุรักษ์ป่า เป็นความต้องการที่สวนทางกัน

สุดท้ายด้วยแนวคิด “คนอยู่-ป่ายัง” ของหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ ทำให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ประสบการณ์หลอมให้ชุมชนมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อกู้วิกฤตฐานทรัพยากรธรรมชาติ และเทใจเพื่อทำงานร่วมกับภาครัฐในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ตั้งเข็มว่าจะครองชีวิตอยู่ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง  ผลจากพลังความสามัคคี ทำให้ชุมชนบ้านคลองเรือได้รับ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ในปี 2555 ด้วยความที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างฝาย จึงตั้งใจว่าจะนำประโยชน์จากพลังน้ำมาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก เพราะระบบกระแสไฟฟ้าของรัฐเข้าไปไม่ถึง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม จึงมีกระบวนการตั้งแต่เริ่มสร้างความเข้าใจ การเรี่ยไรทุนในรูปของผ้าป่าสามัคคี นำเงินรางวัลที่ชุมชนได้จากโครงการต่าง ๆ มาสมทบ ชาวบ้านที่รับจ้างหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะทำฝายต้นน้ำ ก็นำค่าแรงทั้งหมดของตนมาเป็นค่าเสาไฟฟ้า และลงบันทึกค่าแรงงานไว้เพื่อคำนวณเป็นมูลค่าหุ้นโรงไฟฟ้า ส่วนทุนที่ใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ และสายส่ง ได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 

     โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำชุมชนบ้านคลองเรือ จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยพลังชาวบ้าน 89 ครัวเรือน ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นทรัพย์สินที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กแห่งนี้ มีการผลิตโดยใช้พลังงานน้ำที่มีแรงดันจากที่สูง ดันกังหันน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า มีกำลังผลิต 100 กิโลวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้คงที่ประมาณ 10 เดือน ส่วนอีก 2 เดือน เป็นช่วงหน้าแล้ง จะผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าปกติ ทุกวันนี้มีการจำกัดการใช้ไฟฟ้าช่วงปกติครัวเรือนละ 300 วัตต์ต่อวัน และช่วงหน้าแล้งครัวเรือนละ 150 วัตต์ต่อวัน โดยผู้ใช้ไฟจ่ายค่าไฟให้กับกองทุนชุมชนในอัตราเท่ากับการเรียกเก็บของการไฟฟ้าฯ เพื่อใช้เป็นค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ และใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

 ข้อมูลด้านเทคโนโลยี
     หลักการทำงานของกังหันน้ำผลิตไฟฟ้า เกิดจากน้ำที่กักเก็บอยู่บริเวณพื้นที่ที่มีความสูงกว่าระดับโรงไฟฟ้า (อาจจะเป็นฝาย หรือเขื่อนก็ได้) น้ำจะถูกปล่อยไหลลงมาตามท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ จนถึงตัวโรงไฟฟ้าพลังกังหันน้ำที่มีระดับที่ต่ำกว่า ท่อส่งน้ำจะถูกลดขนาดให้เล็กลง ทำให้น้ำมีแรงดันและความเร็วเพิ่มมากขึ้น (คล้ายกับการเอามืออุดสายยางให้น้ำออกมาเพียงบางส่วน สังเกตว่าน้ำจะแรงขึ้น) น้ำจะถูกฉีดผ่านหัวฉีด เข้ากระแทกใบพัดหรือวงล้อของกังหันน้ำ ตามมุมปะทะ (45, 120 องศา) ทำให้กังหันน้ำเกิดการหมุน การควบคุมการหมุนของกังหันน้ำสามารถทำได้โดยการปรับขนาดของหัวฉีด เสมือนเป็นการปรับปริมาณน้ำให้มากหรือน้อยได้ตามต้องการ (โดยปกติ กังหันแบบหัวฉีดส่วนใหญ่จะถูกออกแบบให้ใช้กับน้ำที่มีค่าพื้นที่ที่มีความต่างระดับ ระหว่างที่เก็บน้ำกับตัวโรงไฟฟ้าที่อยู่สูง แต่กังหันที่บ้านคลองเรือ ใช้กังหันที่ออกแบบมาเพื่อค่าพื้นที่ที่มีความต่างระดับที่ไม่สูงมากนัก สามารถใช้กับชุมชนที่มีลำน้ำเล็กๆ และมีที่กักเก็บน้ำขนาดไม่ใหญ่มากได้ดี)
เมื่อพลังงานจลน์ของน้ำถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานกล โดยการทำให้กังหันหมุน เพลาของกังหันก็จะไปหมุนเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าให้ผลิตกระแสไฟฟ้าตามไปด้วย กระแสไฟฟ้าจะเข้าสู่เครื่องควบคุมแรงดัน และจ่ายเป็นพลังงานตามสายส่งไฟฟ้าที่เข้าในแต่ละครัวเรือน

ขอบคุณข้อมูลจาก
•    สุภชาติ เล็บนาค. (2555, 28 มกราคม). ‘คลองเรือโมเดล’ จากพลังงานชุมชนสู่พลังงานไฟฟ้า. โพสต์ทูเดย์
•    “คลองเรือโมเดล” ต้นแบบพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน. (2555). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2556 จาก http://www.energy-insight.org
 
แกลลอรี่ภาพ
© 2023 Power For Sustainable Future Foundation. All Rights Reserved