Menu

โครงการความร่วมมือกับสสวช.

จุดเริ่มต้นแห่งความร่วมมือ
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2545  สี่องค์กรภาคี ประกอบด้วย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมูลนิธิหมู่บ้าน ได้ร่วมกันจัดตั้ง “สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน” ขึ้น และต่อมาในปีพ.ศ.2549 สถาบันฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็น “มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน”   ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ก้าวเดินสู่เป้าหมาย
มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ได้เชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่น ด้วยแนวคิด “ชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง” เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน  และได้ขยายความร่วมมือเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ โดยการพัฒนาหลักสูตร “สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น”  ภายใต้ชื่อ “โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต” เปิดการเรียนการสอนร่วมกันในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 เป็นต้นมา 
ต่อมา มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ได้จัดตั้ง “สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน” เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรของตนเองอย่างเป็นอิสระ โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรสาขาวิชาต่างๆ ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553 เป็นต้นมา  ประกอบด้วย สาขาวิชาในระดับปริญญาตรี 3 สาขา คือ สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น การจัดการสุขภาพชุมชน การจัดการการเกษตรยั่งยืน และในระดับปริญญาโท 2 สาขา คือ สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และการจัดการระบบสุขภาพชุมชน
สร้างโอกาสทางการศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
    สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน เป็นสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกของปวงชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ใหญ่ ผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาที่อยู่ในชนบท นโยบายการศึกษาของสถาบันจึงเป็นการจัดการศึกษาเพื่อท้องถิ่น เน้นการเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ โดยความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายราชการ และเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น ทั้งในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค เพื่อผนึกพลังการจัดการความรู้ ภูมิปัญญา และทรัพยากร ให้เกิดผลสร้างสรรค์ความมั่นคงเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น 

โครงสร้างการจัดการศึกษา
    อาคารสำนักงานสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางคนที อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม และทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้ จังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชน (ศรป.) ในจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาค ซึ่งเปิดการเรียนการสอนแล้ว 23 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ 35 จังหวัด และมีศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิตในอำเภอต่างๆ ทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ของศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชนในแต่ละจังหวัด รวม 114 ศูนย์ 
ปัจจุบันมีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ประมาณ 4,500 คน ระดับปริญญาโท กว่า 100 คน มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท รวมกันประมาณ 9,400 คน  และในปีการศึกษา 2555 สภาสถาบันได้อนุมัติให้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชนเพิ่มขึ้นอีก 14 ศูนย์ ใน 14 จังหวัดทุกภูมิภาค 

สถาบันฯ ใช้แนวทางการจัดการเรียนการสอนทั่วประเทศ โดยนำกระบวนทัศน์พัฒนาใหม่ของภาคีมาใช้ ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญและมีคุณค่ายิ่ง 3 ประการ คือ
    1.  ประสานให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ (learning facilitator)
    2.  ประสานให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (catalyst – change facilitator)
    3.  ประสานให้เกิดเครือข่าย (facilitator networking)

การผสมผสานความรู้
    การบูรณาการความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านกับความรู้ที่เป็นวิชาการสากล เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรม การจัดการศึกษาที่คณาจารย์ของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนให้ความสำคัญ โดยเน้นจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาของภูมิปัญญาที่เป็นความรู้ฝังลึกในตัวบุคคล หรือปราชญ์ชุมชน บูรณาการเข้ากับหลักวิชาสากล หรือทฤษฎีในตำรา เช่นภาพแสดงวงจรของการบูรณาการความรู้ ดังนี้

“คุณภาพ” และ “มาตรฐานการศึกษา” คือ หัวใจของการพัฒนา
สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อให้ได้ทั้ง “คุณภาพ” และ “มาตรฐาน” โดยเน้นองค์ประกอบหลัก 3 ประการ คือ  
1.    คุณภาพของอาจารย์และบุคลากรของสถาบัน
2.    คุณภาพของหลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอน เทคโนโลยีที่ใช้ประกอบการเรียน
3.    การบริหารจัดการที่ดีและการสนับสนุน เช่น งบประมาณ ขวัญกำลังใจ ฯลฯ
    (อาคารที่ทำการสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 6 ตารางวา  ในตำบลบางคนที อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2553 ด้วยรูปแบบที่มุ่งหมายให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติแวดล้อมให้มากที่สุด)

ทิศทางการดำเนินงานและเป้าหมาย 
    มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ดำเนินงานสนับสนุนทุนสร้างครูอาจารย์ โดยให้ทุนการศึกษา และการสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักศึกษาให้มีผลงานอ้างอิงและใช้ประโยชน์ รวมทั้งการเผยแพร่    
1.    นัยสำคัญการบริหารงานให้สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน สามารถพึ่งตนเองได้ภายใน ระยะ 3 ปีข้างหน้า  และหรือใช้เงินสนับสนุนจากมูลนิธิฯ ในจำนวนที่เหมาะสม อย่างมีเหตุผล
2.    ให้คุณภาพการเรียนการสอนเป็นที่ยอมรับของสังคม
3.    ให้มีต้นทุนที่อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยของกลุ่มการศึกษาที่เทียบเคียงกันได้ 
4.    ให้สามารถปรับค่าใช้จ่าย ให้ยืดหยุ่นตามจำนวนของนักศึกษา    

ปรัชญาแห่งการผสานความร่วมมือ 
    การพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย นับตั้งแต่โครงการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน จนถึงสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน เป็นงานที่มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเติบโตควบคู่และเกื้อกูลกัน โดยมีเป้าหมายของการพัฒนาตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหนทางสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง
    การพัฒนาชุมชนและสังคมไทยให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืนนั้น คือ การมอบโอกาสทางการศึกษา ให้แก่กลุ่มเกษตรกรและชุมชน เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ปรับกระบวนทัศน์ ต่อยอดความคิดตามวิถีทางแห่งความพอเพียง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างคุณค่าแก่ตนเอง พร้อมแบ่งปันความดีงามสู่ชุมชนและสังคมรอบข้าง อันจะก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สงบ และสามัคคี  



 
แกลลอรี่ภาพ
© 2023 Power For Sustainable Future Foundation. All Rights Reserved