จากสถานการณ์ “ดินถล่ม” ที่ปัจจุบันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาวะอากาศที่ผันแปร และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดดินถล่มที่รุนแรงและมีอัตราเพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากการเกิดโดยธรรมชาติ ซึ่งการเกิดดินถล่มในประเทศไทย มีปัจจัยหลักคือ ฝนตกหนักต่อเนื่อง มีปริมาณน้ำฝนสะสมเป็นจำนวนมาก ผนวกกับปัจจัยทางสังคมเรื่องจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัด ทำให้ชุมชนบางแห่งต้องขึ้นไปใช้ประโยชน์ที่ดินบนที่สูงชัน ทั้งการสร้างที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน มีการตัดไหล่เขาเป็นเส้นทางคมนาคม ตัดไม้เพื่อสร้างบ้าน แต่ไม่ได้มีการป้องกันดินไหล เมื่อฝนตกหนัก หน้าดินที่ขาดสิ่งยึดเกาะทำให้ดินโคลนไหล ดินถล่ม หรือน้ำป่าไหลหลาก แต่ละครั้งเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แม้ภาครัฐจะเร่งช่วยเหลือแต่ก็ไม่ทันต่อเหตุการณ และหลังเกิดเหตุการเยียวยาก็มักใช้เวลานาน
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาการแก้ไขปัญหาดินถล่มบนที่สูงชันตามแนวพระราชดำริ (มูลนิธิชัยพัฒนา): กรณีบ้านหน้าถ้ำ ตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
มีแนวทางในการสร้างการเรียนรู้ เพื่อให้ชุมชนมีความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ในสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และชาวบ้านเป็น “นักวิจัยด้วยตนเอง” โดยทีมนักวิชาการทำหน้าที่ “โค้ช” เพื่อให้ชาวบ้านหน้าถ้ำได้เรียนรู้จากการลงมือทำ ผ่านกระบ่วนการมีส่วนร่วม เริ่มจากการกลั่นกรองความต้องการชุมชนและประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับอย่างแท้จริง สรุปความต้องการร่วมออกเป็น 3 แผนงาน
• แผนงานที่ 1 การศึกษาบริบทชุมชนและการฟื้นตัวของระบบนิเวศภายหลังดินถล่ม
• แผนงานที่ 2 การจัดทำแผนที่ถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ
• แผนงานที่ 3 การใช้กระสอบมีปีกในการป้องกันดินถล่ม ร่วมกับหญ้าแฝก วิธีกล และพืชอื่น
ต่อจากนั้น ชุมชนจะเข้าร่วมศึกษาและเรียนรู้ เพื่อเชื่อมโยงภูมิปัญญาชุมชนเข้ากับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการอบรมทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการทำงานร่วมกับนักวิชาการในเรื่องการป้องกันและลดความเสี่ยงภัยพิบัติดินโคลนถล่ม ได้แก่
• นำชุมชนศึกษาดูงานพื้นที่ปฏิบัติจริงในแนวท่อก๊าซธรรมชาติไทย-สหภาพเมียนมา
• ให้ชุมชนได้เรียนรู้และปฏิบัติงานร่วมกับนายเมธี ทิพยสิทธิ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเสริมสร้างความแข็งแรงบนที่ลาดชัน
สรุปผลการดำเนินโครงการฯ พบว่า
• ชุมชนได้เรียนรู้เทคนิคการเรียงกระสอบ การตัดขั้นบันได ระบบระบายน้ำ การปลูกหญ้าแฝกและพืชอื่น เพื่อช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพของดินไหล่ถนน ทำให้ถนนเส้นเดียวของหมู่บ้านมีความมั่นคงแข็งแรงขึ้น และชุมชนสามารถดำเนินการพื้นที่ถนนเสียหายส่วนอื่น ๆ ได้ด้วยตัวเอง
• ชุมชนได้รับความรู้เรื่องความแตกต่างของรากไม้ทั้งแนวนอนและแนวดิ่งที่แผ่ประสานกัน ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบในการช่วยป้องกันดินถล่ม
• ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้กับชุมชนและแสดงความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น
• การอนุรักษ์ป่าธรรมชาติช่วยรักษาความสามารถในการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์พืชดั้งเดิม
• การเกษตรแบบวนเกษตรที่ปลูกพืชหลายชนิดร่วมกัน จะมีโครงสร้างรากคล้ายกับโครงสร้างรากในป่าธรรมชาติ
• ผลการศึกษาการเกิดน้ำป่าและดินโคลนถล่มมีทั้งผลบวกและลบ ผลบวกคือ มีถิ่นที่อยู่ใหม่ๆ ของสัตว์และพืชเกิดขึ้น ผลลบคือเกิดความสูญเสียทรัพย์สินและสภาพจิตใจของคนในชุมชน
• พื้นที่ทำกินมีขอบเขตชัดเจน และป้องกันการบุกรุกเพิ่มในพื้นที่เขตอุทยานฯ
• ลดปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดดินถล่ม โดยเฉพาะในพื้นที่สูงชัน
• ทีมวิจัยชุมชนสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ครูและนักเรียนในพื้นที่และชุมชนที่สนใจอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน และ 9 หน่วยงาน ร่วมจัดทำศูนย์เรียนรู้โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาการแก้ไขปัญหาดินถล่มบนที่สูงชันตามแนวพระราชดำริ (มูลนิธิชัยพัฒนา) ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ผ่านนิทรรศการแบบ interactive เพื่อให้ "ท้องถิ่น" เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชน เยาวชน ประชาชนทั่วไป พร้อมรับมือกับสถานการณ์การเกิดดินถล่มอย่างมีประสิทธิภาพ